Change language

ฟ้อนกิงกะหร่า

ฟ้อนกิงกะหร่า เป็นศิลปะการแสดงของชาวไทใหญ่ คำว่า "กิงกะหร่า" เป็นคำ ๆ เดียวกับ คำว่า กินนร หมายถึง อมนุษย์ในนิยายมี ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนก อีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเหมือนคน เมื่อจะไปไหนมาไหนก็จะใส่ปีกใส่หางบินไป การฟ้อนกิงกะหร่าเป็นการเลียนแบบอมนุษย์ชนิดนี้ สำหรับความเป็นมานั้นมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากการไปจำพรรษาเพื่อโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะเสด็จลงสู่โลกมนุษย์นั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้พร้อมใจกัน นำอาหารไปทำบุญตักบาตร ที่เรียกว่า "ตักบาตรเทโวโรหนะ" พร้อมนั้นบรรดาสัตว์ ต่าง ๆ จากป่าหิมพานต์อันมี กินนร และ กินนรี เป็นต้น พากันมาฟ้อนรำแสดงความยินดี ในการเสด็จกลับมาของพระพุทธ- องค์ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีตักบาตรเทโวโร-หนะ และเฉพาะชาวไทใหญ่นิยมแต่งกายเป็นกินนรและกินนรีแล้วร่ายรำเลียนแบบ อากัปกิริยาของอมนุษย์ประเภทนี้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อการแสดงชนิดนี้ เผยแพร่ออกไปในวงกว้างจึงนิยมแสดงในโอกาสอื่นนอกเหนือจากแสดงในช่วง เวลาดังกล่าว ชุดกิงกะหร่ามีส่วนประกอบ ๓ ส่วน คือ ปีก หาง และลำตัว เฉพาะปีกและหางทำด้วยไม้ไผ่หรือหวาย แต่ละส่วนจะทำเป็น โครงก่อนแล้วผ้าแพรสีต่าง ๆ ติดหุ้มโครงและใช้กระดาษสีตัดเป็นลวดลายตกแต่งให้สวยงาม จากนั้นนำมาประกอบกันโดยใช้ยางรัด เชือกหรือหวายรัดให้แน่น พร้อมทำเชือกโยงบังคับปีก และหางสำหรับดึงให้สามารถกระพือปีก และแผ่หางได้เหมือนนก ส่วนลำตัวผู้ฟ้อนจะใส่ เสื้อผ้าสีเดียวกับปีกและหาง (อุปกรณ์การฟ้อนนี้ พบว่าบางแห่งมีเฉพาะหางเท่านั้น) นอก เหนือจากนี้ ส่วนของศีรษะอาจมีการโพกผ้าหรือสวมหมวกยอดแหลมหรือสวมหน้ากาก ซึ่งแล้วแต่ความนิยมของท้องถิ่น ท่ารำ จะเป็นท่าที่เลียนแบบอากัปกิริยาของนกเช่น ขยับปีก ขยับหาง บิน กระโดดโลดเต้นไปมาตามจังหวะของกลอง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีสำคัญในการกำหนดท่า การฟ้อนกิงกะหร่า บางครั้งจะแสดงคู่ชายหญิงโดยสมมุติเป็นตัวผู้และตัวเมีย แต่ส่วนใหญ่ ที่พบมักเป็นตัวเมีย จึงมีชื่อเรียกตามที่เห็นอีกชื่อคือ “ฟ้อนนางนก”

รูปภาพ
0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

อีเมลล์และเบอร์โทรศัพท์ของท่านจะไม่ถูกนำไปเผยแพร่ *กรุณากรอกข้อมูลในช่องให้ครบ